InterPlas Thailand 2023 logo
19 - 22 มิถุนายน 2567

ไทยเดินหน้าสู่เศรษฐกิจยั่งยืน เติบโตอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้นำ "ไบโอพลาสติก" ระดับโลก

·       ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพระดับโลก โดยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ แหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืน

·       ไทยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นจากพลาสติกทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนแทนพลาสติกแบบดั้งเดิม กระทั่งขึ้นแท่นอันดับ 2 “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ” ของโลก 

เบื้องหลังความสำเร็จคือ ไทยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่จำเป็นสำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตพลาสติกชีวภาพในราคาที่แข่งขันได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม BCG Model มีการใช้นโยบายเชิงกลยุทธ์และสิ่งจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนเช่น การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อกระยะห่างการตั้งโรงงาน 50 กม. โดยให้โรงงานอื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ เช่น โรงงานเคมีชีวภาพและโรงงานเอทานอล สามารถตั้งในบริเวณใกล้กับโรงงานน้ำตาลเดิมได้ และมาตรการกระตุ้นใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 1.25 เท่า จูงใจห้างร้านใช้ไบโอพลาสติกทดแทนปีละไม่ต่ำกว่า 10%

 

นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาได้ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่แถวหน้าด้านนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และองค์กรเอกชนได้นำไปสู่ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีโพลีเมอร์ชีวภาพ ซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพและการทำงานของพลาสติกชีวภาพ ความมุ่งมั่นในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทไทยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการทั่วโลก

 

ขณะเดียวกัน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง จึงสนับสนุนห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติกชีวภาพทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตและการแปรรูปวัตถุดิบไปจนถึงการผลิตและการจัดจำหน่ายให้เป็นไปอย่างราบรื่น ที่สำคัญยังมีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งมากอย่างสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ที่เกิดจากการรวมตัวของบริษัทผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพ ทำให้เกิดการประสานงานระหว่างผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้ขึ้นรูป พลาสติก ผู้ค้า รวมทั้งผู้บริโภค ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดความร่วมมือในการทำงานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม พลาสติกชีวภาพโดยสร้างความตระหนักถึงประโยชน์ของพลาสติกชีวภาพแก่สาธารณชน


ด้วยจุดแข็งดังกล่าว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดพลาสติกชีวภาพระดับโลก และตอบโจทย์ความต้องการทางเลือกที่ยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

สำหรับความคืบหน้าจากมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ.2561 - 2570 ระยะครึ่งแผนมีสาระสำคัญที่น่าสนใจคือ มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศที่กำหนดเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท นั้น ในปัจจุบันพบว่ามีการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่มีศักยภาพรวมทั้งสิ้น 28,440 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 153,340 ล้านบาท จะได้จากบีโอไอ ซึ่งมีการอนุมัติให้การส่งเสริมแล้วเมื่อปี 2565 ทั้งสิ้น 211 โครงการ รวมมูลค่า 62,572 ล้านบาท

โดยมีเม็ดเงินลงทุนจากเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy จังหวัดขอนแก่น ของน้ำตาลมิตรผล มูลค่าการลงทุน 29,705 ล้านบาท อยู่ในระหว่างการพิจารณาขยายการลงทุนเพื่อต่อยอดการผลิตเอทานอล เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ในจังหวัดตาก กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และโครงการไบโอฮับเอเชีย จังหวัดฉะเชิงเทรา ของไบโอแมทลิ้งค์ มูลค่าการลงทุน 57,600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะรองรับ 54 โรงงาน และโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จังหวัดนครสวรรค์ ของ GKBI มูลค่าการลงทุน 41,000 ล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพแห่งประเทศไทย (TBIA) ระบุว่าประเทศไทยจะเพิ่มการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเป็น 375,000 ถึง 400,000 ตันต่อปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้บรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้คึกคักเป็นอย่างมาก โดยภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยมีการร่วมทุนกับภาคเอกชนรายใหญ่ของต่างประเทศ เช่น  NatureWorks ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Cargill ของสหรัฐอเมริกา และ PTT Global Chemical (GC) บริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดของไทย กำลังก่อสร้างโรงงานพลาสติก PLA ที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ซึ่งมีกำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี คาดว่าจะผลิตได้ในปี 2568 ด้าน Braskem ยักษ์ใหญ่ด้านพลาสติกชีวภาพของบราซิลและ SCG Chemicals บริษัทในเครือ SCG ของไทย จะตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพเช่นกัน โดยมีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี คาดว่าโรงงานนี้จะเปิดดำเนินการได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ศักยภาพกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 95,000 ตันต่อปี และมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตอีก 75,000 ตันต่อปี โดยกว่า 90% ของกำลังการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนที่เหลือจำหน่ายภายในประเทศ

เรื่องราวของไบโอพลาสติกยังไม่จบเพียงเท่านี้ บล็อก InterPlas Thailand จะนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และเพื่ออัพเดทเทรนด์นี้ เตรียมตัวให้พร้อมกับงาน InterPlas Thailand 2024 งานแสดงเครื่องจักร เทคโนโลยี เคมีภัณฑ์ และวัตถุดิบ สำหรับการผลิตพลาสติกที่ครบครันที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 31 ในวันที่ 19 - 22 มิถุนายน 2567 ณ  ไบเทค บางนา

Sources