“อุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติกของไทยมีอัตราการเติบโตถึง 3.4% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบกับ GDP ของไทยที่ไม่ถึง 2% และการเติบโตนี้ยังสอดคล้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกภายในประเทศ จุดนี้แสดงให้เห็นว่าพลาสติกยังจำเป็นในชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ย้ายไปเติบโตที่ภาคธุรกิจไหน” คุณวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันพลาสติก ได้ให้ข้อมูลกับทีมงาน รี้ด เทรดเด็กซ์ เกี่ยวกับทิศทางของอุตสาหกรรมพลาสติกในอนาคต
วงการพลาสติกสดใส เร่งขยายรับดีมานด์ตลาดใหม่
แม้อุตสาหกรรมพลาสติกจะได้รับผลกระทบจากการแบนพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ ณ ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พลาสติกกลับเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนชีวิตและธุรกิจให้ยังดำเนินต่อไปได้ ทั้งบรรจุภัณฑ์ ช้อนส้อม หรือถุงพลาสติก ที่ได้เข้ามาช่วยในเรื่องสุขอนามัย หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย และ Face Shield ก็ล้วนผลิตมาจากพลาสติก และเป็นอุปกรณ์หลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส อีกทั้งยังทำให้กิจกรรมนอกบ้านยังดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ผู้คนตระหนักถึงสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น คุณวีระแนะนำว่าผู้ประกอบการด้านพลาสติกควรให้ความสนใจกับการผลิตสินค้าทั้ง 3 ประเภทคือ
- สินค้าที่ช่วยด้าน Social Distancing เช่น ฉากกั้น
- สินค้าเพื่อสุขอนามัย เช่น Face Shield, หน้ากากอนามัย, หน้ากาก N95, ห้องคัดเชื้อ และอุปกรณ์คัดเชื้อ
- สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI หรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
“อุตสาหกรรมพลาสติกยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยความท้าทายคือการผลิตประเภทสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด ในแต่ละช่วงเวลา หากมีศูนย์ One-Stop Solution ที่เป็นแหล่งข้อมูลและให้คำปรึกษาในทุกๆ ด้าน ธุรกิจก็สามารถต่อยอดไปได้อีกไกล”
ในด้านของสถาบันพลาสติก นอกจากจะมีการจัด Online Training ขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวแล้ว ยังมีบริการออกแบบชิ้นงานจากไอเดียของผู้ประกอบการ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการผลิต การใช้งาน และการนำสินค้าออกสู่ตลาดให้อีกด้วย โดยสถาบันฯ จะมี 3D Printer ที่จะสร้างตัวต้นแบบ (Prototype) เพื่อนำมาวิเคราะห์แผนการลงทุน หากผู้ประกอบการเห็นว่าการลงทุนทั้งหมดด้วยตนเองจะสูงจนเกินไป ก็จะมีการประสานงานกับสมาชิกในเครือข่ายเพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือในด้านการผลิต
คุณวีระยังกล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการปรับตัวคือ Mindset ของผู้ประกอบการที่จะต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพราะอนาคตจะอยู่กับความไม่แน่นอนมากขึ้น ควรศึกษาแนวโน้มความต้องการตลาด และดูว่าความรู้ ความสามารถ และเครื่องจักรของผู้ประกอบการสามารถปรับไปใช้กับภาคการผลิตอื่นได้หรือไม่
“ทุกวันนี้การร่วมมือกันเป็นเรื่องสำคัญ การที่มีพื้นที่ศูนย์กลาง เช่น งานแสดงสินค้า ที่ให้ผู้ประกอบการในวงการได้มาพบปะ พูดคุย อัพเดทเทคโนโลยีใหม่ พร้อมสร้างสรรค์ไอเดียให้เป็นจริง อย่างงานอินเตอร์พลาส ไทยแลนด์ จะเป็น One-Stop Solution ที่ช่วยให้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้า และการต่อยอดทำตลาดในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” คุณวีระเสริม
หมายเหตุ
“InterPlas Thailand” เป็นงานสำหรับการเจรจาธุรกิจ ผู้เข้าชมงานต้องแต่งกายสุภาพ สวมกางเกงขายาว หรือกระโปรง และรองเท้าหุ้มส้นเท่านั้น ไม่อนุญาตเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปีให้เข้าชมงาน ผู้จัดงานสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าชมงานได้ โดยไม่ต้องแจ้งเหตุผล